วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อาหารอินทรีย์กับสิ่งแวดล้อม

อาหารอินทรีย์กับสิ่งแวดล้อม


                       ในปัจจุบัน กระแสการตื่นตัวด้านอาหารอินทรีย์ได้แพร่หลายและกระจายไปทั่วโลกอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพิษภัยของสารเคมีในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ใช้ในด้านการเกษตรหรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางดิน ก่อให้เกิดปัญหาดินเสื่อมไม่สามารถปลูกพืชให้เจริญเติบโตได้อีก ผลทางอากาศก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตรายต่อผู้ใช้สารเคมีโดยตรงและยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติ ประเทศไทยพยายามที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารสู่ครัวโลก จำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทของตัวเองในการผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่ห่วงใยต่อสุขภาพของตนเองและเป็นผู้มีจิตสำนึกต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอาหารอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการผลิตป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการแปรรูปและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ทั้งยังสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดผลผลิตใหม่ที่ปลอดภัยโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีทำให้สุขภาพแข็งแรง สิ่งแวดล้อมดี ทั้งเป็นการสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนอีกด้วย

                        ในรอบทศวรรษนี้ประเทศไทยได้เริ่มทยอยเปิดการเจรจาการค้าเสรีที่อาจต้องแลกกับการได้เปรียบเสียเปรียบในหลายด้านโดยเฉพาะภาคการเกษตร ขณะที่ประเทศคู่ค้ายังใช้ช่องทางกีดกันสินค้าเกษตรจากไทย และอุดหนุนภาคการเกษตรของตัวเองอยู่ต่อไป ความเสียเปรียบแทนทุกด้านอาจมีหนทางแก้ไขได้ด้วยการผลิกผันสู่เกษตรแบบยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์ที่ยังมีฐานความรู้และการผลิตภายในประเทศอยู่ ซึ่งยังช่วยตอบคำถามเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารควบคู่ไปด้วยเนื่องมาจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในการผลิตอาหารอินทรีย์ เพราะมีดิน ฟ้า อากาศที่เหมาะสม มีความได้เปรียบด้านแรงงาน แต่ปัจจุบันเกษตรกรได้หันมารับจ้างในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้การทำงานด้านเกษตรกรรมนับวันจะน้อยลงทุกที นอกจากนั้นแล้วเกษตรกรยังคงชินกับการใช้ยาแมลง ปุ๋ยเคมีมากเกินกว่าความจำเป็น เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารควรร่วมมือกันในการผลักดันให้เกษตรกรเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้นด้วยกลยุทธ์การดึงดูดเกษตรกรด้วยราคา เป็นต้น


แนวโน้มความต้องการอาหารอินทรีย์ของประเทศหลัก

แนวโน้มความต้องการอาหารอินทรีย์ของประเทศหลัก

            แนวโน้มความต้องการอาหารอินทรีย์ทั้งในและต่างประเทศมีอัตราการขยายตัวที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 25 ต่อปี และมูลค่าของตลาดโลกของอาหารอินทรีย์มีมากกว่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือกว่า 560,000 ล้านบาท จากการเติบโตของตลาดถือเป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะผลิตสินค้าประเภทนี้ป้อนสู่ตลาดโลก เนื่องมาจากประเทศไทยมีปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการเพาะปลูกที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีโดยมีตลาดใหญ่ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ผู้ที่ต้องการส่งออกสินค้าอาหารอินทรีย์ต้องศึกษากฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศอย่างรอบคอบ เนื่องจากประเทศผู้นำเข้าเหล่านี้นำกฎระเบียบที่ใช้กับสินค้าที่ผลิตในประเทศของตนมาใช้กับสินค้าที่นำเข้าด้วย
           
            สหรัฐอเมริกา : สหรัฐอเมริกาถือเป็นคู่ค้าสำคัญในอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยที่นิยมบริโภคอาหารอินทรีย์จนมีคำกล่าวที่ว่า “จากนี้ต่อไปสิ่งที่เรียกว่าอาหารนั้นจะต้องเป็นอาหารแบบเกษตรอินทรีย์เท่านั้น” ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรของสหรัฐได้รายงานว่าร้อยละ 60 ของประชากรนิยมซื้ออาหารอินทรีย์แทนอาหารแบบเดิม ซึ่งสินค้าที่จะเข้าไปขายในประเทศสหรัฐอเมริกาจำเป็นต้องติดฉลาก “เกษตรอินทรีย์” ซึ่งได้รับการรับรองตามมาตรฐานของสหรัฐฯ

            สหภาพยุโรป : ขณะนี้ EU ได้กำหนดแผนปฏิบัติการเพื่อการทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์และอาหารอินทรีย์ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการทำฟาร์มอินทรีย์โดยจะเน้นในด้านการวางแผนการตลาด การวางนโยบายทางด้านการผลิต การกำหนดมาตรฐานและการตรวจสอบให้อยู่ในรูปแบบเดียวกัน ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ในระดับ EU ได้มุ่งเจาะเป้าหมายตลาดใหม่ โดยหันมายังผู้บริโภคที่ซื้ออาหารอินทรีย์ ซึ่งให้ความสำคัญในด้านราคาเป็นหลักและรัฐบาลให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือในอุตสาหกรรมอาหารที่ผลิตอาหารอินทรีย์มากขึ้นและพยายามศึกษาวิจัยข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อหาวิธีช่วยเหลือให้เกษตรกรอินทรีย์มีเสถียรภาพมากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศในแง่การรักษาสิ่งแวดล้อมและเป็นการส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรที่ยั่งยืนใน UK ควบคู่กันไปด้วย โดยอาหารอินทรีย์ที่จะนำเข้าไปยังยุโรปในแต่ละประเทศจะต้องขออนุญาตก่อนทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจำนวน ชนิด ประเทศที่ผลิตและระยะเวลาที่อนุญาตให้นำเข้าและจะอนุญาตเฉพาะประเทศที่ขออนุญาตนำเข้าเท่านั้น เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าสหภาพยุโรปแล้วสามารถค้ากันได้โดยเสรีระหว่างประเทศสมาชิก

            ญี่ปุ่น : ในประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้าอาหารจากต่างประเทศมากกว่า 3.2 ล้านเยนต่อปีและมีแนวโน้มมากขึ้นในอนาคตและเป็นประเทศใส่ใจในรายละเอียดเรื่องสุขภาพมากต้องการอาหารที่ปลอดภัยและสะอาด ในขณะที่สินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ผลิตในประเทศญี่ปุ่นเองมีน้อยมากและยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้ทั้งหมดแม้จะมีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้นทุกปีถึงแม้ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่พึ่งพาอาหารนำเข้าแต่ก็เป็นประเทศที่มีกฎระเบียบการนำเข้าที่เข้มงวดมากที่สุดประเทศหนึ่ง โดยมีข้อจำกัดในการนำเข้าสินค้าอาหารอินทรีย์ของญี่ปุ่นคือกำหนดมาตรฐานคุณภาพไว้สูงและต้องใช้ใบรับรองสุขอนามัยปลอดโรคพืชและแมลงทำให้เป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าผักผลไม้สดจากต่างประเทศผู้ส่งออกไทยที่ส่งสินค้าอาหารอินทรีย์เข้าไปจำหน่ายในญี่ปุ่นจึงจำเป็นมากที่ต้องปรับมาตรฐานให้เป็นไปตามกฎระเบียบของทางญี่ปุ่นเนื่องมาจากยังคงมีความต้องการการนำเข้าที่สูงอยู่โดยอยู่ภายใต้มาตรฐานกฎระเบียบสินค้าเกษตรฉบับใหม่ของญี่ปุ่นซึ่งจัดทำโดยกระทรวงเกษตร ประมง และป่าไม้ของญี่ปุ่น กำหนดให้สินค้าอาหารอินทรีย์ที่นำเข้ามายังญี่ปุ่นต้องติดฉลากที่ออกใบรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยติดตราสัญลักษณ์ JAS


อุตสาหกรรมอาหารไทยพัฒนาสู่เกษตรอินทรีย์

พัฒนาการ...สู่เกษตรอินทรีย์


                  ท่ามกลางภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงในตลาดการค้าโลก แม้ภาคการเกษตรของไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียเปรียบในการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารแต่หลายฝ่ายกลับมองเห็นผลิตภัณฑ์อาหารอินทรีย์เป็น “ตัวเต็ง” ที่ส่งเข้าชิงชัยในสนามแต่การจะคว้าชัยชนะมาได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการเตรียมการอย่างดีและได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องปรับปรุงทางนโยบายหลายๆด้าน

                  อาหารอินทรีย์ (Organic Food) เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย โดยเป็นอาหารที่ผลิตมาจากพืช ผัก ผลไม้ที่เจริญเติบโตขึ้นมาโดยปราศจากการใช้สารกำจัดศัตรูพืช หรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์สังเคราะห์ใช้อาหารที่มีอยู่ตามธรรมชาติเกือบทั้งหมดและมีมาตรฐานที่เข้มงวดที่เกษตรกรผู้ปลูกต้องปฏิบัติตามโดยอาหารอินทรีย์ในประเทศไทยให้การรับรองโดยมาตรฐานของประเทศไทย เครื่องหมายรับรองของ ACT ประเทศไทย ได้รับการรับรองโดยองค์กรระหว่างประเทศที่เรียกว่า สมาพันธ์ผู้ผลักดันสินค้าเกษตรอินทรีย์นานาชาติ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนที่มีสมาชิกทั่วโลกกว่า 100 ประเทศ

                  ปัจจุบันประเทศไทยมีเนื้อที่เพาะปลูกเพื่อผลิตสินค้าอินทรีย์เพียง 25,000 ไร่ เท่านั้น ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พยายามเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้นในสองสามปีจากนี้ไป เนื่องมาจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกแห่งองค์การค้าโลก จำเป็นต้องปฏิบัติตามพันธกรณีในการส่งออกสินค้าเกษตรเข้าสู่ประเทศคู่ค้า และจำเป็นต้องผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลโดยปราศจากสิ่งปนเปื้อนรวมถึงไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมอันเป็นผลเนื่องมาจากการผลิตสินค้า


อุตสาหกรรมอาหารไทย


อุตสาหกรรมอาหารไทยกับกระแสบริโภคอาหารอินทรีย์ในศตวรรษที่ 21

            ประเทศไทยได้ประกาศนโยบายด้านอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรในการเป็น ครัวของโลก” ในปี 2546 โดยอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของไทยมีรากฐานการผลิตที่เข้มแข็งกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน บริษัทผู้แปรรูปอาหารรายใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ส่งออก และพึ่งพิงตลาดต่างประเทศค่อนข้างมาก แนวโน้มที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชนิดและคุณภาพของสินค้าและทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมเริ่มเปลี่ยนแปลงมีหลายปัจจัยได้แก่

-          ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างในการค้า ทำให้มีการใช้วัตถุดิบนำเข้าเพื่อแปรรูปของโรงงานในประเทศค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าที่หลากหลายและออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาแนะนำตลาดอยู่เนืองๆ

-          การเพิ่มความวิตกกังวลและการดูแลสุขภาพ ทำให้คนไทยตื่นตัวในการเลือกบริโภคอาหาร อาหารประเภทแมโครไบโอติกส์ อาหารเจ อาหารสุขภาพจึงได้รับความนิยมมากขึ้นถึงแม้ตลาดจะไม่ใหญ่โตอย่างแถบยุโรป แต่ผู้บริโภคก็ให้ความสนใจสูง มีความต้องการอาหารกลุ่มเพื่อสุขภาพที่ราคาแพง และสะดวกในการบริโภค

-          การขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 700 สาขาทั่วประเทศ ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและคาดหวังกับความหลากหลายของสินค้า คุณภาพ และราคามากขึ้นทำให้ธุรกิจค้าปลีกใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองผู้ผลิตให้ผลิตสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น

-          การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ผู้แปรรูปอาหารหันมาลงทุนผลิตสินค้าพร้อมรับประทานและอาหารแช่แข็งเพิ่มมากขึ้น

-          อุตสาหกรรมขนมขบเคี้ยวได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของวัฒนธรรมอาหารยุโรปและธุรกิจสถานบันเทิงและท่องเที่ยว รวมทั้งการขยายจำนวนร้านค้ามินิมาร์ท ทำให้ช่องทางกระจายสินค้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตทั้งขนาดใหญ่และ OTOP ต่างได้รับประโยชน์และได้มีการขยายตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้นด้วย

-          ร้านแฟรนไชส์ อาหารของต่างประเทศขยายตัวอย่างรวดเร็วทั้งในรูปแบบร้านอาหารและเอาท์เลต เพื่อตอบสนองการดำเนินชีวิตที่สะดวกสบายของผู้บริโภค การเติบโตของธุรกิจอาหารฟาสต์ฟูดส์ เป็นตัวเร่งให้อุตสาหกรรมอาหารอื่นๆ ขยายตัวด้วย เช่น เบเกอร์รี่ ผลิตภัณฑ์นม อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์และไก่

-          อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของไทยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ในเอเชีย รองจาก ญี่ปุ่น จีน และอินเดีย สินค้าที่ผลิตได้มากกว่าร้อยละ 90 เพื่อการส่งออก ดังนั้นการยกระดับคุณมาตรฐานการผลิตจึงเป็นหัวใจสำคัญเพื่อการรักษาตลาด รูปแบบสินค้าที่ส่งออกเป็นอาหารกระป๋องและแช่แข็งประมาณร้อยละ 80 สินค้าส่งออกที่สำคัญ คือ ทูน่ากระป๋อง กุ้งแช่แข็ง และหมึกแช่แข็ง

ปัจจุบันเนื่องจากในหลายช่วงศตวรรษที่ผ่านมาระบบการผลิตสินค้าในอุตสาหกรรมอาหารล้วนได้รับอิทธิพลจากกระแสทุนนิยมและส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อวิถีชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จากเกษตรกร กระบวนการผลิตจนถึงการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภค ล้วนมีอันตรายจากสารปนเปื้อนในหลายๆกระบวนการจนกลายเป็นเรื่องปกติและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตไปแล้ว

เมื่อก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ยุคของข้อมูลข่าวสารผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย ทำให้ผู้คนในยุคนี้ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ฉับไว รวมถึงข่าวสารข้อมูลถึงความไม่ปลอดภัยในคุณภาพของอาหาร ทำให้ผู้คนหันมาให้ความสนใจในรายละเอียดในคุณภาพอาหารและคุณภาพชีวิตมากขึ้น หลายคนหันมาตื่นตัวกับกระแสบริโภคอาหารอินทรีย์โดยเฉพาะผู้บริโภคในแถบประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ กลุ่มประเทศ ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เป็นต้น



ข้อมูลเพิ่มเติม : พัดลมอุตสาหกรรม  พัดลมระบายอากาศ  พัดลมไอน้ำ  ธุรกิจ SMEs ไทย

วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กลยุทธ์และมาตรการ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระยะปี 2550-2554 โดยมียุทธศาสตร์ กลยุทธ์และมาตรการ ดังนี้

1.      ยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ

จากผลการศึกษาโครงการ Global Entrepreneurship Moniter (GEM) ในปี 2549 พบว่าประเทศไทยมีระดับกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการ ที่ร้อยละ 15.2 อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ 41 ประเทศที่มีการสำรวจ และมีทัศนคติในด้านบวกต่อความเป็นผู้ประกอบการ โดยลักษณะของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นกิจการให้บริการขนาดเล็กและมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก และเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 86 ของประชากรในวัยทำงานมีความปราถนาที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตนเองแต่มีเพียง ร้อยละ 45 ที่มีความมั่นใจในทักษะและความสามารถที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ดังนั้นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญ คือ กิจกรรมในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจ ได้แก่ การสร้างความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนานวัตกรรม การใช้ระบบที่ปรึกษาและข้อมูลทางการตลาดในการมองหาโอกาสทางธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่
            ทิศทางการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างสภาพแวดล้อมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่เชิงคุณภาพ และเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการเดิมในการผลิตสินค้าที่แข่งขันได้ให้เหมาะสมตามระยะเวลาการเติบโตของธุรกิจ โดยการสร้างคุณค่าและเน้นการตอบสนองความต้องการของตลาดระดับกลางขึ้นไป และตลาดเฉพาะมากขึ้น

            กลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่

1.1              การสร้างแรงจูงใจในการเป็นผู้ประกอบการ เช่น การให้ข้อมูลลู่ทางธุรกิจ การนำเสนอตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ การสร้างแรงจูงใจทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีธุรกิจเกิดใหม่ เป็นต้น

1.2              การเพิ่มขีดความสามารถ ความรู้ ทักษะ ตามขนาดและระยะการเติบโตของธุรกิจในการประกอบกิจการ ผ่านระบบการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ตามความต้องการ สภาพปัญหาและสถานการณ์ ผ่านระบบบ่มเพาะ ระบบฝึกอบรม SMEs University ระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา นักวินิจฉัย

1.3              การเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี หรือใช้วัตกรรมของผู้ประกอบการ โดยการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากบริการข้อมูล องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การสนับสนุนให้เข้าถึงและใช้บริการทางเทคโนโลยีได้โดยสะดวก การสร้างเครือข่าย การยกระดับเทคโนโลยี และการต่อยอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

1.4              การยกระดับความสามารถและคุณภาพชีวิตบุคลากร โดยการยกระดับความรู้ทักษะแรงงานเดิม แรงงานใหม่ ผ่านการฝึกอบรม การปรึกษาแนะนำ ส่งเสริมการสร้างและการเทียบระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและสวัสดิการในกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม

1.5              การสร้างโอกาสในทางธุรกิจและการให้บริการองค์ความรู้ด้านการตลาด โดยการสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยขน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการตลาด และการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุกิจ

1.6              การสร้างความตื่นตัว จิตสำนึก และธรรมาภิบาลแก่ผู้ประกอบการ เช่น การสร้างความตระหนักและแรงจูงใจด้านการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบและโปร่งใส การบริหารจัดการที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และผู้บริโภค เป็นต้น


2.     ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถทางนวัตกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิต

จากข้อมูลปี 2549 จำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29.6 มีสัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศร้อยละ 30.3 และมีสัดส่วนในการจ้างงานสูงสุด คือ ร้อยละ 39.4 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมด วิสาหกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายภายในประเทศ บางส่วนเป็นผู้รับจ้างผลิตจากกิจการขนาดใหญ่ และมีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง

            ทิศทาง เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากผู้รับจ้างผลิต ไปเป็นผู้สามารถออกแบบเองได้ และเป็นผู้สร้างตรายี่ห้อของตัวเองได้ในที่สุด  กลุ่มเป้าหมาย แบ่งออกเป็น

-          กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม (Indigenous)  ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเบา (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติก) กลุ่มอุตสาหกรรมวิศวการ (เหล็กและโลหะประดิษฐ์ เครื่องจักรกลแม่พิมพ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ชิ้นส่วน)และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากร (อาหาร ยาและสมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ไม้ของขวัญ ของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์เซรามิกส์)

-          กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave) ได้แก่ พลังงานทดแทน และผลิตภัณฑ์ที่ไต่ระดับที่สูงขึ้นของห่วงโซ่คุณค่าในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม


3.     ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบในภาคการค้า
จากข้อมูลในปี 2549 สัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคการค้าคิดเป็นร้อยละ 29.2 มีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการค้ามากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.0 และมีสัดส่วนในการจ้างงาน คือ ร้อยละ 27.6 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมดซึ่งในปัจจุบันภาคการค้าปลีก ค้าส่งขนาดกลางและขนาดย่อมต้องแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติรวมทั้งยังมีปัญหาด้านกฎระเบียบภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวและการแข่งขัน อย่างไรก็ตามร้านค้าปลีกไทยยังมีจุดแข็งและโอกาสในด้านความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค และยังมีความสำคัญในการเป็นแหล่งอาชีพ แหล่งงาน แหล่งรายได้ของวิสาหกิจขนาดจิ๋วจำนวนมาก

    ทิศทางการส่งเสริมภาคการค้าปลีก คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ และลดผลกระทบที่เกิดจากการแข่งขันกับธุรกิจการค้าสมัยใหม่ขนาดใหญ่

กลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ได้แก่

3.1  การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการค้าส่ง ค้าปลีก โดยการสนับสนุน ICT มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ การสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล การส่งเสริมด้านการจัดการ การค้าสมัยใหม่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เพื่อสร้างตลาดและเพิ่มอำนาจต่อรองด้านการจัดซื้อสินค้า ส่งเสริมการสร้างความแตกต่างของธุรกิจค้าปลีกรายย่อย เช่น การทำธุรกิจการค้าเฉพาะประเภท ธุรกิจแฟรนส์ไชส์ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในภาคการค้า การเสริมสร้างความเข้มแข็งและบทบาทของ Trading Firm และการสร้างตรายี่ห้อ ในภาคการค้าปลีก ค้าส่ง

3.2  การส่งเสริมและปรับปรุงระบบการกำกับดูแลภาคการค้าส่ง ค้าปลีก เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยการปรับกระบวนการส่งเสริมและแก้ปัญหาของผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก ให้มีความต่อเนื่องและมีลักษณะบูรณาการ ปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า 2542 กฏหมายแฟรนไชส์ พรบ.ค้าปลีก เป็นต้น



4.     ยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาคบริการในการสร้างคุณค่าและมุลค่าเพิ่ม

จากข้อมูลในปี 2549 สัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคบริการมีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.2 มีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7 และมีสัดส่วนในการจ้างงาน คือ ร้อยละ 33.0 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมดโดยภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่ทวีความสำคัญมากขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมาและมีการขยายตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก กลุ่มบริการเป้าหมายในการส่งเสริม แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบริการซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นธุรกิจ และกลุ่มบริการซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภค สำหรับสาขาบริการเป้าหมาย ได้แก่ การบริการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องและกลุ่มบริการอื่นๆ ประกอบด้วย 1. สารสนเทศและซอฟต์แวร์ รวมทั้ง digital content 2. บริการที่ปรึกษาและสนับสนุนธุรกิจ 3.บริการสุขภาพและความงาม 4.บริการออกแบบและการก่อสร้าง 5.บริการโลจิสติกส์ 6.ธุรกิจบันเทิงและ 7.บริการการศึกษา

            ทิศทางการส่งเสริมภาคบริการ สนับสนุนการใช้องค์ความรู้ วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทย และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างคุณค่าและมูลค่า รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคบริการกับธุรกิจขนาดใหญ่


5.      ยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคและท้องถิ่น

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคเป็นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นและในประเทศเป็นส่วนใหญ่โดยยังขาดความตื่นตัวและความรู้ความสามารถในการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ขาดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งขาดความรู้และความพร้อมในด้านการตลาด การขาย อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจในภูมิภาคและวิสาหกิจชุมชนมีจุดเด่นในด้านการมีศักยภาพสูงในการนำเอาทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น วัตถุดิบ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานและรายได้สู่ภูมิภาคและท้องถิ่นชนบท

            ทิศทางการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคและท้องถิ่น คือ การส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและความเชื่อมโยงธุรกิจของวิสาหกิจในภูมิภาคและพัฒนาศักยภาพการผลิต การจัดการธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเพื่อสร้างคุณค่าและยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการของวิสาหกิจในภูมิภาคและชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีบทบาทในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก

6.      ยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจ

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขาดความตระหนักหรือแรงจูงใจ ความรู้ ความสามารถ หรือกำลังทุนที่เพียงพอที่จะยกระดับเทคโนโลยีการผลิต การจัดการได้โดยลำพัง ภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทการส่งเสริมผ่านการสนับสนุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ซึ่งเป้าหมายคือ การสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยการเพิ่มผลิตภาพและมีนวัตกรรมอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกหรือโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังมีความจำกัด ทั้งในด้านปริมาณที่มีไม่เพียงพอในการให้บริการคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ยังขาดการเชื่อมโยงบริการด้านต่างๆ รวมทั้งยังขาดการพัฒนาปัจจัยเอื้อบางประการที่สำคัญ

            ทิศทางการพัฒนาปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สูงขึ้น ทั้งยังต้องสามารถช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของกิจการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขันให้สูงยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการปรับตัวไปสู่กิจการที่ใช้ฐานความรู้และมีพลวัตรสูง


วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมปี 2550-2554

            ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระยะปี 2550-2554 ในแผนการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ได้กำหนดการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระดับตัวผู้ประกอบการและกิจการ ระดับสาขาธุรกิจ รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคและท้องถิ่น และจะต้องสนับสนุนปัจจัยเอื้อที่เหมาะสมในการเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถทางนวัตกรรมให้กับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทย


วิสัยทัศน์และเป้าหมาย

            วิสัยทัศน์ของการส่งเสริม คือ การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยเพื่อให้สามารถเติบโตอย่างสมดุล ต่อเนื่อง และยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันและการทำธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้วยฐานความรู้ และความสามารถในเชิงทักษะฝีมือ

            มิติการส่งเสริม มุ่งเน้นการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระดับสาขาธุรกิจ ในพื้นที่และในระดับตัวผู้ประกอบการซึ่งพิจารณาตามสภาพการพัฒนาของกิจการด้วย ได้แก่ระยะก่อนเริ่มกิจการ ระยะเริ่มต้น ระยะเติบโต ระยะอยู่ตัว และระยะถดถอย ปรับตัว โดยการส่งเสริมจะให้ความสำคัญกับกิจการที่มีการปรับตัวด้านความโปร่งใสและประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิต ภาพการผลิต การจัดการ ความสามารถในการสร้างนวัตกรรม และการคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเน้นปรับระบบการจัดการหรือการทำงานส่งเสริมในภาครัฐให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


ธุรกิจ SMEs ไทย

ยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจ SMEs ไทยกับการแข่งขันในทศวรรษที่ 21

            วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจโดยมีจำนวนถึงประมาณร้อยละ 99 ของธุรกิจทั้งหมดวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นฐานรากการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูและเสริมสร้างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจรวมทั้งเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาความยากจนข้อมูลที่ยืนยันถึงบทบาททางเศรษฐกิจไทยที่สำคัญดังกล่าวได้แก่ การก่อให้เกิดการจ้างงานคิดเป็นสัดส่วนถึงกว่าร้อยละ 76 ของการจ้างงานรวมของประเทศ บทบาทในการสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ประมาณร้อยละ 39 ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศทั้งหมดและมีมูลค่าการส่งออกโดยตรงคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 29 ของมูลค่าการส่งออกรวม


ปัญหาอุปสรรค SMEs ไทย

            สภาพปัญหาอุปสรรค ทั้งที่เกิดจากข้อจำกัดของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอง หรือจากการขาดปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐและจากปัจจัยภายนอกกิจการได้ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย ที่สำคัญ ได้แก่ การที่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมไทยส่วนใหญ่ยังมีประสิทธิภาพด้านการผลิต การจัดการต่ำ และขาดขีดความสามารถในการใช้และพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม การสร้างและการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งนำไปสู่การขาดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมีนวัตกรรมมีความแตกต่าง และนำไปสู่ปรากฎการณ์ของปัญหาหลายประการ เช่น มีการขยายตัวต่ำ มีการหดตัวในบางสาขาเศรษฐกิจ (ภาคการค้า) รวมทั้งมีการส่งออกสินค้าในกลุ่มที่เป็นสินค้าปฐมภูมิและใช้แรงงานมากที่มีมูลค่าต่ำเป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยไทยยังมีโอกาสและลู่ทางที่ดีทางด้านการผลิตสินค้าและบริการที่ใช้ภูมิปัญญาในประเทศ ความรู้สั่งสม ทักษะฝีมือ ความปราณีต อัธยาศัยไมตรี และวัตถุดิบภายในประเทศ ที่สอดคล้องกับความต้องการและแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ รวมทั้งโครงสร้างทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป หากผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อยไทยมีการปรับตัว หลีกหนีจากการแข่งขันในตลาดล่างไปสู่การผลิตป้อนตลาดระดับกลางและระดับบนขึ้นไปที่ใช้องค์ความรู้ ทักษะ ฝีมือและความเป็นไทยในการผลิตและการจัดการโดยจะต้องได้รับการสนับสนุนในด้านปัจจัยเอื้อและโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการจากภาครัฐด้วย