วันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

กลยุทธ์และมาตรการ การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในระยะปี 2550-2554 โดยมียุทธศาสตร์ กลยุทธ์และมาตรการ ดังนี้

1.      ยุทธศาสตร์การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ

จากผลการศึกษาโครงการ Global Entrepreneurship Moniter (GEM) ในปี 2549 พบว่าประเทศไทยมีระดับกิจกรรมความเป็นผู้ประกอบการ ที่ร้อยละ 15.2 อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับ 41 ประเทศที่มีการสำรวจ และมีทัศนคติในด้านบวกต่อความเป็นผู้ประกอบการ โดยลักษณะของธุรกิจส่วนใหญ่เป็นกิจการให้บริการขนาดเล็กและมีมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สูงนัก และเน้นตลาดภายในประเทศเป็นหลัก อย่างไรก็ตามผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 86 ของประชากรในวัยทำงานมีความปราถนาที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ของตนเองแต่มีเพียง ร้อยละ 45 ที่มีความมั่นใจในทักษะและความสามารถที่จะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ดังนั้นสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายควรให้ความสำคัญ คือ กิจกรรมในช่วงเริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจ ได้แก่ การสร้างความสามารถในการเป็นผู้ประกอบการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยพัฒนานวัตกรรม การใช้ระบบที่ปรึกษาและข้อมูลทางการตลาดในการมองหาโอกาสทางธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่
            ทิศทางการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างสภาพแวดล้อมและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่เชิงคุณภาพ และเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการเดิมในการผลิตสินค้าที่แข่งขันได้ให้เหมาะสมตามระยะเวลาการเติบโตของธุรกิจ โดยการสร้างคุณค่าและเน้นการตอบสนองความต้องการของตลาดระดับกลางขึ้นไป และตลาดเฉพาะมากขึ้น

            กลยุทธ์ที่สำคัญในการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้แก่

1.1              การสร้างแรงจูงใจในการเป็นผู้ประกอบการ เช่น การให้ข้อมูลลู่ทางธุรกิจ การนำเสนอตัวอย่างผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ การสร้างแรงจูงใจทางภาษี เช่น ยกเว้นภาษีธุรกิจเกิดใหม่ เป็นต้น

1.2              การเพิ่มขีดความสามารถ ความรู้ ทักษะ ตามขนาดและระยะการเติบโตของธุรกิจในการประกอบกิจการ ผ่านระบบการเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้ตามความต้องการ สภาพปัญหาและสถานการณ์ ผ่านระบบบ่มเพาะ ระบบฝึกอบรม SMEs University ระบบพี่เลี้ยง ที่ปรึกษา นักวินิจฉัย

1.3              การเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยี หรือใช้วัตกรรมของผู้ประกอบการ โดยการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากบริการข้อมูล องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี การสนับสนุนให้เข้าถึงและใช้บริการทางเทคโนโลยีได้โดยสะดวก การสร้างเครือข่าย การยกระดับเทคโนโลยี และการต่อยอดนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์

1.4              การยกระดับความสามารถและคุณภาพชีวิตบุคลากร โดยการยกระดับความรู้ทักษะแรงงานเดิม แรงงานใหม่ ผ่านการฝึกอบรม การปรึกษาแนะนำ ส่งเสริมการสร้างและการเทียบระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน รวมทั้งเสริมสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีและสวัสดิการในกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม

1.5              การสร้างโอกาสในทางธุรกิจและการให้บริการองค์ความรู้ด้านการตลาด โดยการสร้างโอกาสทางการตลาดทั้งตลาดภายในและตลาดต่างประเทศการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการได้ใช้ประโยขน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการตลาด และการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างธุกิจ

1.6              การสร้างความตื่นตัว จิตสำนึก และธรรมาภิบาลแก่ผู้ประกอบการ เช่น การสร้างความตระหนักและแรงจูงใจด้านการทำธุรกิจอย่างเป็นระบบและโปร่งใส การบริหารจัดการที่ดีด้านสิ่งแวดล้อมและการประหยัดพลังงาน ความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชน และผู้บริโภค เป็นต้น


2.     ยุทธศาสตร์การเพิ่มผลิตภาพและขีดความสามารถทางนวัตกรรมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิต

จากข้อมูลปี 2549 จำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 29.6 มีสัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศร้อยละ 30.3 และมีสัดส่วนในการจ้างงานสูงสุด คือ ร้อยละ 39.4 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมด วิสาหกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อการจำหน่ายภายในประเทศ บางส่วนเป็นผู้รับจ้างผลิตจากกิจการขนาดใหญ่ และมีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศสูง

            ทิศทาง เพื่อเพิ่มมูลค่าเพิ่ม ความแตกต่างและความสามารถในการแข่งขันของสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตจากผู้รับจ้างผลิต ไปเป็นผู้สามารถออกแบบเองได้ และเป็นผู้สร้างตรายี่ห้อของตัวเองได้ในที่สุด  กลุ่มเป้าหมาย แบ่งออกเป็น

-          กลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม (Indigenous)  ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมเบา (สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งพิมพ์ และบรรจุภัณฑ์พลาสติก) กลุ่มอุตสาหกรรมวิศวการ (เหล็กและโลหะประดิษฐ์ เครื่องจักรกลแม่พิมพ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ ชิ้นส่วน)และกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากร (อาหาร ยาและสมุนไพร เฟอร์นิเจอร์ไม้ของขวัญ ของชำร่วย ของตกแต่งบ้าน ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์เซรามิกส์)

-          กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave) ได้แก่ พลังงานทดแทน และผลิตภัณฑ์ที่ไต่ระดับที่สูงขึ้นของห่วงโซ่คุณค่าในกลุ่มอุตสาหกรรมดั้งเดิม


3.     ยุทธศาสตร์การเพิ่มประสิทธิภาพและลดผลกระทบในภาคการค้า
จากข้อมูลในปี 2549 สัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคการค้าคิดเป็นร้อยละ 29.2 มีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการค้ามากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.0 และมีสัดส่วนในการจ้างงาน คือ ร้อยละ 27.6 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมดซึ่งในปัจจุบันภาคการค้าปลีก ค้าส่งขนาดกลางและขนาดย่อมต้องแข่งขันกับธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติรวมทั้งยังมีปัญหาด้านกฎระเบียบภาครัฐที่ไม่เอื้อต่อการปรับตัวและการแข่งขัน อย่างไรก็ตามร้านค้าปลีกไทยยังมีจุดแข็งและโอกาสในด้านความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับผู้บริโภค และยังมีความสำคัญในการเป็นแหล่งอาชีพ แหล่งงาน แหล่งรายได้ของวิสาหกิจขนาดจิ๋วจำนวนมาก

    ทิศทางการส่งเสริมภาคการค้าปลีก คือการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคสมัยใหม่ และลดผลกระทบที่เกิดจากการแข่งขันกับธุรกิจการค้าสมัยใหม่ขนาดใหญ่

กลยุทธ์ที่สำคัญในการส่งเสริมภาคการค้าปลีก ค้าส่ง ได้แก่

3.1  การเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ภาคการค้าส่ง ค้าปลีก โดยการสนับสนุน ICT มาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพ การสนับสนุนการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูล การส่งเสริมด้านการจัดการ การค้าสมัยใหม่ ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์เพื่อสร้างตลาดและเพิ่มอำนาจต่อรองด้านการจัดซื้อสินค้า ส่งเสริมการสร้างความแตกต่างของธุรกิจค้าปลีกรายย่อย เช่น การทำธุรกิจการค้าเฉพาะประเภท ธุรกิจแฟรนส์ไชส์ รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรในภาคการค้า การเสริมสร้างความเข้มแข็งและบทบาทของ Trading Firm และการสร้างตรายี่ห้อ ในภาคการค้าปลีก ค้าส่ง

3.2  การส่งเสริมและปรับปรุงระบบการกำกับดูแลภาคการค้าส่ง ค้าปลีก เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยการปรับกระบวนการส่งเสริมและแก้ปัญหาของผู้ประกอบการค้าส่ง ค้าปลีก ให้มีความต่อเนื่องและมีลักษณะบูรณาการ ปรับปรุงและแก้ไขกฎระเบียบให้เอื้อต่อการแข่งขันที่เป็นธรรม เช่น กฎหมายการแข่งขันทางการค้า 2542 กฏหมายแฟรนไชส์ พรบ.ค้าปลีก เป็นต้น



4.     ยุทธศาสตร์การส่งเสริมภาคบริการในการสร้างคุณค่าและมุลค่าเพิ่ม

จากข้อมูลในปี 2549 สัดส่วนต่อมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของภาคบริการมีมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 32.2 มีจำนวนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภาคการบริการคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.7 และมีสัดส่วนในการจ้างงาน คือ ร้อยละ 33.0 ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งหมดโดยภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่ทวีความสำคัญมากขึ้นตลอด 10 ปีที่ผ่านมาและมีการขยายตัวตามการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรม และการส่งออก กลุ่มบริการเป้าหมายในการส่งเสริม แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มบริการซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นธุรกิจ และกลุ่มบริการซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริโภค สำหรับสาขาบริการเป้าหมาย ได้แก่ การบริการท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องและกลุ่มบริการอื่นๆ ประกอบด้วย 1. สารสนเทศและซอฟต์แวร์ รวมทั้ง digital content 2. บริการที่ปรึกษาและสนับสนุนธุรกิจ 3.บริการสุขภาพและความงาม 4.บริการออกแบบและการก่อสร้าง 5.บริการโลจิสติกส์ 6.ธุรกิจบันเทิงและ 7.บริการการศึกษา

            ทิศทางการส่งเสริมภาคบริการ สนับสนุนการใช้องค์ความรู้ วัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาไทย และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างคุณค่าและมูลค่า รวมทั้งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมภาคบริการกับธุรกิจขนาดใหญ่


5.      ยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคและท้องถิ่น

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคเป็นการผลิตสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นและในประเทศเป็นส่วนใหญ่โดยยังขาดความตื่นตัวและความรู้ความสามารถในการประกอบธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ ขาดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานและมีมูลค่าเพิ่มสูง รวมทั้งขาดความรู้และความพร้อมในด้านการตลาด การขาย อย่างไรก็ตาม วิสาหกิจในภูมิภาคและวิสาหกิจชุมชนมีจุดเด่นในด้านการมีศักยภาพสูงในการนำเอาทรัพยากรในท้องถิ่น เช่น วัตถุดิบ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยไปใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ ซึ่งนำไปสู่การสร้างงานและรายได้สู่ภูมิภาคและท้องถิ่นชนบท

            ทิศทางการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในภูมิภาคและท้องถิ่น คือ การส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและความเชื่อมโยงธุรกิจของวิสาหกิจในภูมิภาคและพัฒนาศักยภาพการผลิต การจัดการธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยี วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยเพื่อสร้างคุณค่าและยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการของวิสาหกิจในภูมิภาคและชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมีบทบาทในการสร้างความมั่นคงให้กับเศรษฐกิจฐานราก

6.      ยุทธศาสตร์การพัฒนาปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจ

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมขาดความตระหนักหรือแรงจูงใจ ความรู้ ความสามารถ หรือกำลังทุนที่เพียงพอที่จะยกระดับเทคโนโลยีการผลิต การจัดการได้โดยลำพัง ภาครัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทการส่งเสริมผ่านการสนับสนุนด้านสิ่งอำนวยความสะดวกและโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ซึ่งเป้าหมายคือ การสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งของกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมโดยการเพิ่มผลิตภาพและมีนวัตกรรมอย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสิ่งอำนวยความสะดวกหรือโครงสร้างพื้นฐานในการให้บริการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังมีความจำกัด ทั้งในด้านปริมาณที่มีไม่เพียงพอในการให้บริการคุณภาพการให้บริการ นอกจากนี้ยังขาดการเชื่อมโยงบริการด้านต่างๆ รวมทั้งยังขาดการพัฒนาปัจจัยเอื้อบางประการที่สำคัญ

            ทิศทางการพัฒนาปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก สภาพแวดล้อม และโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นปัจจัยเอื้อในการดำเนินธุรกิจของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สูงขึ้น ทั้งยังต้องสามารถช่วยเพิ่มความเข้มแข็งของกิจการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข็งขันให้สูงยิ่งขึ้น รวมทั้งสนับสนุนการปรับตัวไปสู่กิจการที่ใช้ฐานความรู้และมีพลวัตรสูง


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น