วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อาหารอินทรีย์กับสิ่งแวดล้อม

อาหารอินทรีย์กับสิ่งแวดล้อม


                       ในปัจจุบัน กระแสการตื่นตัวด้านอาหารอินทรีย์ได้แพร่หลายและกระจายไปทั่วโลกอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพิษภัยของสารเคมีในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีที่ใช้ในด้านการเกษตรหรือกิจกรรมอื่นๆ ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางดิน ก่อให้เกิดปัญหาดินเสื่อมไม่สามารถปลูกพืชให้เจริญเติบโตได้อีก ผลทางอากาศก่อให้เกิดมลพิษเป็นอันตรายต่อผู้ใช้สารเคมีโดยตรงและยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศตามธรรมชาติ ประเทศไทยพยายามที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารสู่ครัวโลก จำเป็นที่จะต้องเพิ่มบทบาทของตัวเองในการผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานอาหารปลอดภัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่ห่วงใยต่อสุขภาพของตนเองและเป็นผู้มีจิตสำนึกต่อธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เนื่องจากอาหารอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีใดๆ ในกระบวนการผลิตป้องกันการปนเปื้อนในระหว่างการแปรรูปและการรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ธรรมชาติ ทั้งยังสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดผลผลิตใหม่ที่ปลอดภัยโดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับสิ่งที่ดีทำให้สุขภาพแข็งแรง สิ่งแวดล้อมดี ทั้งเป็นการสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมอาหารอย่างยั่งยืนอีกด้วย

                        ในรอบทศวรรษนี้ประเทศไทยได้เริ่มทยอยเปิดการเจรจาการค้าเสรีที่อาจต้องแลกกับการได้เปรียบเสียเปรียบในหลายด้านโดยเฉพาะภาคการเกษตร ขณะที่ประเทศคู่ค้ายังใช้ช่องทางกีดกันสินค้าเกษตรจากไทย และอุดหนุนภาคการเกษตรของตัวเองอยู่ต่อไป ความเสียเปรียบแทนทุกด้านอาจมีหนทางแก้ไขได้ด้วยการผลิกผันสู่เกษตรแบบยั่งยืน หรือเกษตรอินทรีย์ที่ยังมีฐานความรู้และการผลิตภายในประเทศอยู่ ซึ่งยังช่วยตอบคำถามเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารควบคู่ไปด้วยเนื่องมาจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในการผลิตอาหารอินทรีย์ เพราะมีดิน ฟ้า อากาศที่เหมาะสม มีความได้เปรียบด้านแรงงาน แต่ปัจจุบันเกษตรกรได้หันมารับจ้างในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น ทำให้การทำงานด้านเกษตรกรรมนับวันจะน้อยลงทุกที นอกจากนั้นแล้วเกษตรกรยังคงชินกับการใช้ยาแมลง ปุ๋ยเคมีมากเกินกว่าความจำเป็น เป็นสิ่งที่ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารควรร่วมมือกันในการผลักดันให้เกษตรกรเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์ให้มากขึ้นด้วยกลยุทธ์การดึงดูดเกษตรกรด้วยราคา เป็นต้น


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น