วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

สภาพภูมิอากาศอื่นๆ

1.       อุณหภูมิ

อุณหภูมิเป็นตัววัดความร้อนที่รู้สึกได้ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิของน้ำ  อากาศ  หรือดิน  สิ่งมีชีวิตจะตอบสนองต่อความร้อนหรือความหนาวของสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆตัวเสมอ ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อกระบวนการทางสรีระวิทยาของพืช ซึ่งมีผลต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของพืช จะเห็นว่าอุณหภูมิมีอิทธิพลต่อความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อพืช ในที่อุณหภูมิต่ำมากๆ น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็งจนพืชไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ส่วนในที่มีอุณหภูมิสูง การระเหยและการคายน้ำย่อมมีมากทำให้เกิดการสูญเสียน้ำเป็นเหตุให้เกิดความแห้งแล้ง หรือความชื้นที่เป็นประโยชน์ต่อพืชมีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะที่มีระบบรากตื้นและอยู่ในระยะเริ่มงอกใหม่ๆ นักนิเวศวิทยาจึงมักใช้อุณหภูมิเป็นหลักในการแบ่งเขตการกระจายของสังคมพืช ในกรณีนี้อุณหภูมิวิกฤตหรืออุณหภูมิสูงสุดและต่ำสุดจึงมีความสำคัญมากกว่าอุณหภูมิเฉลี่ย เช่น พืชในทะเลทรายอาจทนทานต่อสภาพของอุณหภูมิสูงถึง 150 องศาฟาเรนไฮ ส่วนไม้สนบางชนิดจะมีชีวิตอยู่ได้แม้อุณหภูมิจะต่ำกว่า -80 องศา ก็ตาม

2.       ลม

ลมเป็นอากาศที่เคลื่อนไหวไปมาในบรรยากาศของโลก มวลของอากาศก็เหมือนมวลของน้ำ หรือมวลของวัตถุอื่นๆ เพียงแต่มีความหนาแน่นมาก เบา และลอยตัวไปมาได้ง่ายกว่าน้ำ และวัตถุที่เป็นของแข็งอื่นๆ อากาศจะแทรกอยู่ทุกหนทุกแห่งและมีความดันต่อพื้นที่ผิวของทั้งที่เป็นของแข็งและของเหลว ที่เรียกว่าความดันบรรยากาศ ณ ที่ระดับน้ำทะเล ความกดดันนี้จะเท่ากับประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตารางเซนติเมตร ( 15 ปอนด์ / ตร.นิ้ว )ความดันต่อ 1 หน่วยพื้นที่ดังกล่าว ความจริงก็คือน้ำหนักจริงๆ ของอากาศบนหน่วยพื้นที่นั้นนับจากระดับน้ำทะเล สูงขึ้นไปจนถึงระดับนอกสุดของบรรยากาศนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ณ จุดที่อยู่สูงจากระดับน่ำทะเลมากเท่าใดความกดอากาศจะลดลงและความหนาแน่นของอากาศก็จะเบาบางลงด้วยเท่านั้น  ถ้าหากโลกนี้มีพื้นผิวราบเรียบและไม่หมุนรอบตัวเองแล้วความดันทุกแห่งในโลกนี้จะเท่ากันหมด และสมมุติว่าความดันที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันความดันอากาศจะลดลงทำให้เกิดความแตกต่างในด้านความดันขึ้น 

                นอกจากอุณหภูมิและความชื้นในบรรยากาศที่มีอิทธิพลต่อการตกของฝนแล้ว ลมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญในการช่วยพัดพาเอากระแสอากาศทั้งร้อนและเย็น ตลอดจนเมฆหมอกจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ทำให้ฝนตกกระจายไปตามทิศทางที่ลมพัดผ่าน เช่น ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดผ่านประเทศไทยก็มักจะพัดพาเอาพายุฝนมาตกด้วยเสมอลมเป็นสาเหตุหนึ่งที่ช่วยเพิ่มอัตราการระเหยและพัดพาเอาหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย โดยเฉพาะในบริเวณที่มีอากาศแห้งแล้ง ลมจะทำให้อากาศแห้งยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลกระทบต่อผลิตผลและการเจริญเติบโตของพืชได้ ตามบริเวณชายฝั่งทะเลลมมักจะแรงทำให้เกิดเนินทรายเคลื่อนที่หรือทำให้ต้นไม้หักเสียหาย บนเขาสูงต้นไม้มักจะเตี้ยแคระแกรน และลู่ไปตามทิศทางลมทำให้ปริมาณกิ่งก้านและใบ ต้านรับลมน้อยกว่าด้านหลังลม ทั้งนี้เนื่องจากกระแสลมแรงเป็นอุปสรรคต่อการปรุงอาหารและการเจริญของตา ใบ และกิ่งก้านของต้นไม้

                บริเวณทุ่งหญ้าที่โล่งเตียนมักจะมีกระแสลมแรงและพัดติดต่อกันตลอดเวลาทำให้อากาศปลอดโปร่ง ปราศจากเมฆหมอก ปริมาณแสงที่ได้รับจึงมีมาก ขณะเดียวกันอุณหภูมิจะสูง อัตราการสูญเสียน้ำจากการระเหยจะสูงตามไปด้วย   พัดลมไอน้ำ

                นอกจากนั้นลมยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการกระจายพันธุ์ของพืชโดยการพัดพาเมล็ดปลิวไปตามลมเป็นระยะทางไกลๆ พืชที่กระจายพันธุ์ด้วยลมมีอยู่หลายประเภท แต่ส่วนใหญ่แล้วเป็นพวกที่มีเมล็ดเล็กและเบา เช่น สปอร์ของพวกมอส และเห็ดรา เมล็ดบางชนิดจะมีขนตามเปลือกที่ห่อหุ้ม เช่น พวกผักชี สาปเสือ ส่วนพวกยาง ตะเคียน เต็งรัง พลวง ที่เมล็ดจะมีปีกช่วยให้ลมพัดพาไปได้สะดวก สำหรับเมล็ดของหญ้ามักมีขนาดเล็กเมื่อแก่เต็มที่ ส่วนที่ห่อหุ้มเมล็ดจะแตกออกทำให้ลมพัดไปได้ง่าย ลมจึงเป็นปัจจัยช่วยการกระจายพันธุ์ที่สำคัญยิ่ง

3.       ความชื้นและปริมาณน้ำฝน

                น้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญในโลกของสิ่งมีชีวิต ชีวิตพืชและสัตว์ที่มนุษย์ใช้เป็นอาหารต้องอาศัยน้ำในการดำรงชีวิต มนุษย์เองก็ใช้ประโยชน์จากน้ำโดยตรงและโดยอ้อม เช่นกัน แหล่งที่มาของน้ำจืดที่สำคัญได้แก่ไอน้ำจากบรรยากาศที่ควบแน่นแล้วตกลงมาเป็นฝน น้ำฝนที่ตกลงมาจะไหลผ่านพื้นดินไปสู่ทะเลมหาสมุทร การระเหยของน้ำจากพื้นดินและแหล่งน้ำจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เกิดการหมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป

                ความชื้นในบรรยากาศ ปริมาณไอน้ำในอากาศจะแตกต่างกันไปตามเวลาและสถานที่ จากที่ที่มีอยู่น้อยที่สุดในอากาศที่แห้งและเย็นบริเวณเขตอาร์คติกไปจนถึงที่มีมากถึงร้อยละ 4-5 ของปริมาณของมวลอากาศในเขตที่มีความชื้นสูงแถบเส้นศูนย์สูตรปริมาณไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศรวมเรียกว่าความชื้นในบรรยากาศ การวัดปริมาณไอน้ำหรือความชื้นในอากาศนิยมวัดเป็นความชื้นสัมพัทธ์ ซึ่งหมายถึงสัดส่วนของปริมาณความชื้นที่มีอยู่ในบรรยากาศต่อปริมาณความชื้นที่สามารถมีอยู่ได้สูงสุด ในบรรยากาศนั้น ณ อุณหภูมิที่กำหนดให้ ถ้าอากาศอิ่มตัวไปด้วยไอน้ำ ความชื้นสัมพัทธ์จะเท่ากับ 100 เปอร์เซนต์ แต่ถ้าหากมีไอน้ำอยู่เพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณไอน้ำสูงสุดที่สามารถจะอยู่ในอากาศนั้นได้ความชื้นสัมพัทธ์จะเท่ากับ 50 เปอร์เซน เป็นต้น







               
                                                                                                







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น