วันอังคารที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2554

มลภาวะของน้ำ

               การเกิดมลภาวะของน้ำนั้นส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพราะความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ได้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมามากมาย และโรงงานเหล่านี้มักจะตั้งโรงงานอยู่ติดกับแม่น้ำลำคลอง เพราะสะดวกในการใช้น้ำระบายความร้อน ชะล้างเครื่องมือเครื่องใช้ ชำระล้างสิ่งปฏิกูลต่างๆ ของโรงงาน น้ำเสียและสิ่งปฏิกูลเหล่านี้มักจะทิ้งลงไปในแม่น้ำลำคลอง เมื่อมีจำนวนมากก็เกิดมลภาวะขึ้น นอกจากนั้นจำนวนประชากรที่ตั้งบ้านเรือน โรงแรม โรงพยาบาลติดอยู่กับแม่น้ำ ลำคลองก็ช่วยให้น้ำในแม่น้ำลำคลองสกปรกมากขึ้น โดยได้ทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูลต่างๆลงไป สรุปแล้วน้ำเน่าเสียหรือเกิดมลภาวะขึ้นมีแหล่งกำเนิดอยู่หลายประการคือ

Ø  มลภาวะของน้ำที่เกิดจากประชาชน  ที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยติดกับแม่น้ำ ลำคลองได้ทิ้งของเสีย เช่นอุจจาระ ขยะมูลฝอย น้ำจากครัวเรือน น้ำเสียจากการชำระล้างอุปกรณ์ และชำระล้างร่างกายลงสู่แม่น้ำ ของเสียเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นสารอินทรีย์ เมื่อทิ้งลงไปมากๆ นอกจากจะทำให้แม่น้ำ ลำคลองตื้นเขินแล้วยังทำให้น้ำเน่าเสีย ส่งกลิ่นเหม็น ตัวอย่าง เช่น คลองหลอด คลองแสนแสบ และแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุที่น้ำเกิดเน่าเสียขึ้นนี้ก็เพราะ น้ำขาดออกซิเจน เนื่องมาจากเชื้อจุลินทรีย์ที่อยู่ในน้ำใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์จนออกซิเจนที่มีอยู่ในน้ำหมดสิ้น ปกติในน้ำจะมีออกซิเจนละลายอยู่ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อน้ำหนึ่งลิตรและการที่มีออกซิเจนอยู่ในน้ำเพียงเล็กน้อยนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตมาก โดยเฉพาะพวกเชื้อจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจนในการย่อยสารอินทรีย์เป็นอาหาร การใช้ออกซิเจนของเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำเราเรียกว่า “ความต้องการออกซิเจนทางชีวเคมี”  (Biochemical Oxygen Demand) หรือเรียกย่อๆ ว่า  B.O.D ค่า บี.โอ.ดี นี้แสดงถึงปริมาณออกซิเจนที่จุลินทรีย์ต้องการใช้ในการสะลายสารอินทรีย์ในน้ำ ฉะนั้นจึงใช้วัดมลภาวะของน้ำโดยหาค่าของ บี.โอ.ดี ถ้าค่าของ บี.โอ.ดี  สูงแสดงว่าน้ำนั้นมีสารอินทรีย์อยู่มากโดยที่เชื้อจุลินทรีย์สลายสารอินทรีย์และได้ใช้ออกซิเจนให้สิ้นไป หรือใช้จนเหลือน้อยลงมาก

Ø  มลภาวะของน้ำที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรม   เป็นแหล่งใหญ่ที่ทำให้เกิดมลภาวะทางน้ำเพราะโรงงานส่วนใหญ่จะตั้งโรงงานติดกับแม่น้ำ ลำคลอง ทะเล ทะเลสาป ทั้งนี้เพราะโรงงานต้องใช้น้ำ นอกจากจะใช้ชะล้างอุปกรณ์ภายในโรงงานแล้ว ยังใช้ในกระบวนการผลิตด้วย น้ำเสียเหล่านี้ก็จะปล่อยลงสู่แม่น้ำลำคลอง ทะเล จนเกิดมลภาวะขึ้น มีบางโรงงานได้ปล่อยน้ำเสียเข้าไปในที่นา พื้นที่เกษตรกรรมจนพื้นที่ดังกล่าวเสียหาย พืชผักไม่ขึ้น เพราะน้ำเสียจากโรงงานมีสารเคมีกรด สารอินทรีย์มากมายพอจะแยกสิ่งปฏิกูลต่างๆ ที่โรงงานมักง่ายได้ปล่อยลงสู่แม่น้ำ ลำคลอง ทะเล คือ สารเคมีที่ลอยละลายอยู่ในน้ำ ได้แก่ โซเดียม แมกนีเซี่ยม เหล็ก แมงกานีส ซัลเฟต ปรอท ตะกั่ว ยาฆ่าแมลง และปราบศัตรูพืช ฯลฯ ที่เกิดมลพิษปรากฎขึ้นอยู่เนื่องๆ




 อันตรายเนื่องมาจากมลภาวะของน้ำ

1.                        ทำให้น้ำมีกลิ่นและรสเปลี่ยนไป    กลิ่นของน้ำจะเปลี่ยนไปเนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำจะย่อยสลายสารอินทรีย์ ทำให้เกิดก๊าซขึ้น เช่น ก๊าซไฮโดรเจน ซัลไฟด์ ที่มีกลิ่นเหม็นมากและยังทำให้เกิดก๊าซอื่นๆ อีกมากมาย รสของน้ำเปลี่ยนไปก็เพราะน้ำได้รับสารเคมีกรด ด่าง เกลือจากโรงงานอุตสาหกรรมจากอาคารที่อยู่อาศัยเมื่อนำน้ำนี้มาใช้ก็จะเกิดอันตรายได้

2.                        ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค    ปกติน้ำที่มีเชื้อโรคมักจะมาจากสถานพยาบาล โรงพยาบาลและแหล่งชุมชนที่อยู่ติดกับแม่น้ำได้ปล่อยสิ่งปฏิกูลลงไปในน้ำทำให้น้ำมีเชื้อโรค เมื่อนำน้ำมาใช้เช่นใช้ทำน้ำแข็ง คนบริโภคเข้าไปย่อมมีโอกาสได้รับเชื้อโรคเข้าไปได้

3.                        ทำให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนน้อยลง    ก๊าซออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำมีความสำคัญอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่นเดียวกับความสำคัญของก๊าซออกซิเจนในอากาศต่อมนุษย์เช่นกัน  สัตว์น้ำและพืชน้ำจะต้องใช้ออกซิเจนในการย่อยสลายสารอินทรีย์ เมื่อในน้ำไม่มีออกซิเจน สัตว์น้ำและพืชน้ำก็จะตายไม่สามารถอยู่ในน้ำได้ทำให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติไปด้วย

4.                        ทำลายความสวยงามของแหล่งน้ำ    สภาพของน้ำเน่ามักมีสีดำคล้ำไม่น่าดูและมีกลิ่นเหม็น สภาพเช่นนี้ทำลายความสวยงามของแหล่งน้ำและทัศนียภาพริมแหล่งน้ำนั้นๆ เสียสิ้น

5.                        มีผลเสียต่อการเกษตรและการประมง   ด้านการเกษตร มลภาวะของน้ำก่อให้เกิดความเสียหายต่อพืช  ส่วนใหญ่มักเนื่องมาจากน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรมและการใช้ยาฆ่าแมลงและปราบศัตรูพืช ฝนตกชะล้างเอายาเหล่านี้ลงไปในแม่น้ำแล้วนำมาใช้ด้านเกษตรก็จะเป็นอันตราย  ด้านการประมง  มลภาวะของน้ำนอกจากน้ำจะขาดออกซิเจนแล้ว ในน้ำยังมีสารเคมีเป็นพิษทำให้สัตว์น้ำ พืชน้ำเจริญเติบโตไม่ได้เต็มที่หรือตาย ทำให้เสียหายต่อการประมงเป็นอย่างยิ่ง

6.                        ผลเสียต่อสุขภาพ  ประชาชนผู้ใช้แหล่งน้ำที่น้ำเน่าเสียอาจจะได้รับเชื้อโรคหรือสารเคมีเป็นพิษเข้าไปได้ เช่น ในน้ำมีโลหะหนักปนอยู่จะมีผลต่อร่างกาย  อันตรายจากโลหะหนักเหล่านี้ทางอ้อม  ได้แก่การที่มันเข้าไปสะสมอยู่ในตัวของสัตว์น้ำต่างๆ แล้วเรานำสัตว์น้ำเหล่านี้มาบริโภค ก็เท่ากับว่าเราได้บริโภคสารเคมีเป็นพิษเหล่านี้เข้าไปด้วย


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น