วันจันทร์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2554

โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา (พ.ศ.2551-2555)

เนื่องจากโลกในปัจจุบันกำลังตื่นตัวกับการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมฐานความรู้ ซึ่งถือเป็นแนวคิดสำคัญของประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนาใช้ผลักดันให้เกิดสังคมและเศรษฐกิจฐานความรู้โดยสร้างความเข้มแข็งในระบบนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา พ.ศ. 2551-2555 ขึ้น ซึ่งมีองค์ประกอบ 2 ส่วนหลัก คือ โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา และ ระบบการบริหารจัดการความรู้

1.      โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา มีองค์ประกอบ ดังนี้

ทรัพยากรมนุษย์ มีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากเป็นตัวกลางในการสร้าง กระจาย และใช้ความรู้ ฉะนั้นการให้การศึกษาและการฝึกอบรมจะต้องมีมาตรฐานสูงและเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตลอดชีวิตการทำงานของบุคคล

เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งหมายถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประมวล เก็บรักษา ถ่ายโอนและสื่อสารข้อมูลทั้งข้อความเสียงและภาพ โดยถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจฐานความรู้ในการทำให้ประชาชนและธุรกิจ สามารถเข้าถึงสารสนเทศจากทั่วทุกมุมโลกและดึงสารสนเทศนั้นออกมาเป็นความรู้โดยเฉพาะบริการอินเทอร์เน็ต

วัฒนธรรมและจริยธรรมในสังคม  จะต้องสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กรและปัจเจกบุคคลวัฒนธรรมการเป็นผู้ประกอบการ และค่านิยมของสังคมที่ยอมรับแนวความคิดใหม่ๆและยอมรับความล้มเหลว เป็นตัวกระตุ้นให้คนในสังคมกล้าคิดค้นนวัตกรรมซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง

กฎหมายและแรงจูงใจ ในที่นี้คือการออกกฎหมายและกฎระเบียบที่ยอมรับว่าความรู้เป็นสินทรัพย์ เพื่อเป็นฐานการดำเนินงานของเศรษฐกิจ / สังคมฐานความรู้การวางระบบทรัพย์สินทางปัญญาให้มีความสมดุลระหว่างการส่งสริมการสร้างความรู้ใหม่และการแพร่กระจาย

โครงสร้างพื้นฐานและสถาบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการสร้าง แพร่กระจาย และใช้ความรู้ อาทิ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยีและนวัตกรรม ศูนย์วิเคราะห์ทดสอบและมาตรวิทยาและระบบสอบเทียบและมาตรฐานเพื่อปรับเปลี่ยนมาตรฐานการผลิตของประเทศสู่มาตรฐานสากล

2.      ระบบการบริหารจัดการความรู้ มีองค์ประกอบดังนี้

การผลิตความรู้  โดยการค้นคว้าวิจัยพัฒนาออกแบบและทำวิศวกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ใหม่และการได้มาซึ่งความรู้ที่มีอยู่แล้ว

การแพร่กระจายความรู้  โดยให้การศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้เกิดความรู้ใหม่ฝังเข้าไปในตัวคนหรือการเผยแพร่ความรู้สู่สาธารณชนโดยวิธีการต่างๆ

การใช้ความรู้  คือการใช้ความรู้ไปแก้ปัญหาโดยเฉพาะให้ความรู้เข้าไปสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรม การเกษตร  และบริการหรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ




เป้าหมาย : แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

            แผนแม่บทฉบับนี้มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาในด้านการเพิ่มความสามารถในการสร้างและการใช้ประโยช์ความรู้เพื่อนำไปสู่การเจริญเจิบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนโดยมีจุดหมายของการพัฒนา คือ ภายในปี 2555 ประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมาย 3 ประการดังนี้

เป้าหมายที่ 1 : ร้อยละ 35 ของสถานประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตมีนวัตกรรมทางเทคโนลี

เป้าหมายที่ 2 : มีความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ สถาบันการศึกษา การวิจัย และการเรียนการสอน

เป้าหมายที่ 3 : อันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในด้านบุคลากรวิจัยและพัฒนา และสิทธิบัตรที่จัดทำโดย International  Institute for Management Development อยู่ในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าจุดกึ่งกลาง


ประโยชน์ : โครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา

            แผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ปี พ.ศ.2551-2555 จะทำให้สังคมไทยมีพัฒนาการทางโครงสร้างที่แข็งแกร่งสามารถยืนหยัดต่อสู้ในภาวะการแข่งขันรอบด้านได้อย่างสมดุลโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้งต่อไป โดยแผนแม่บทโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ได้กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ดังนี้

1.      เพื่อเร่งรัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่เข้มแข็ง เพื่อสนับสนุนภาคการผลิต และเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน

2.      เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะสนับสนุนการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม นักธุรกิจ นักวิจัย ระบบการศึกษา ระบบเศรษฐกิจและประชาชนทั่วไป




ยุทธศาสตร์.....สู่ความสำเร็จ

            แผนนี้จะมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิตความรู้ อันประกอบด้วยสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา จึงได้กำหนดกลยุทธ์การพัฒนา เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญาที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันดังนี้

ยุทธศาสตร์เพิ่มความสามารถทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิต

            เป็นการสร้างช่องทางความร่วมมือเพื่อเข้าถึงมาตรการสนับสนุนภาคเอกชนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสถาบันรวมทั้งกฎหมายและแรงจูงใจเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พัฒนาระบบคุณภาพ เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจในทรัพย์สินทางปัญญา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งสร้างความตระหนักและความเข้าใจในทรัพย์สินทางปัญญา และช่องทางในการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินทางปัญญา

ยุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งของแหล่งผลิตความรู้

            พัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้เข้มแข็ง และทำงานตรงกับความต้องการของภาคการผลิต โดยการถ่ายทอดความรู้ระดับสูงระหว่างภาคการผลิตและสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรให้ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตและบริการและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนที่มีทักษะในการประดิษฐ์คิดค้น

ยุทธศาสตร์สร้างความเชื่อมโยงระหว่างแหล่งผลิตความรู้และผู้ใช้ความรู้

            การพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมอุตสาหกรรมกลุ่มย่อยประกอบด้วยกิจกรรมทั้งในส่วนการสร้างความเชื่อมโยงและการเพิ่มความสามารถของภาคการผลิต ตลอดจนแหล่งผลิตความรู้การดำเนินงานจะทำในลักษณะชุดโครงการที่มีการออกแบบให้สอดคล้องและประสานกันทุกส่วน โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาผู้ประกอบการผลิตในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะซึ่งจะมีการคัดเลือกกลุ่มอุตสาหกรรมนำร่องเพื่อทำการพัฒนาเครือข่ายนวัตกรรมนั้น



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น